เปิดสถิติขยะ วันลอยกระทง ย้อนหลัง 5 ปี ขยะกระทง คืนวันเพ็ญ ปี 66 พุ่ง 6.3 แสนใบ

[Sassy_Social_Share]

เปิดสถิติย้อนหลัง 5 ปี วันลอยกระทง ขยะกระทง คนกรุงขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญ กทม. ปี 2566 พุ่งกว่า 6 แสนใบ ต้องลอยอย่างไรให้ไม่ทิ้งขยะ?

“วันลอยกระทง” เป็นเทศกาลและหนึ่งในประเพณีที่สืบสานความดีงาม ลำรึกถึง “พระแม่คงคา” ตามความเชื่อที่ว่า เป็นการขอบคุณพระแม่คงคา เทพเจ้าแห่งสายน้ำ ที่ให้น้ำไว้ใช้ในการเกษตรและประโยชน์อื่นๆ และเป็นการขอขมาที่ได้ลงอาบน้ำและปล่อยของเสียลงไป แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการขอขมาในวันเพ็ญเดือน 12 นี้ กลับสร้างมลพิษและขยะทางน้ำมากขึ้นกว่าเดิมในหลายพื้นที่

วัสดุในการทำ “กระทง” ล้วนแล้วแต่มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ใบตอง ใบพลับพลึง กาบมะพร้าว ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ แล้วปักธูปเทียนบนวัสดุที่ไม่จมน้ำ นำไปปล่อยลงให้ลอยไปตามลำน้ำ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจย่อยสลายไปได้ตามธรรมชาติ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบัน ปริมาณกระทงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการดัดแปลงกระทงโดยใช้วัสดุต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดขยะตกค้าง ขัดขวางการระบายน้ำ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

ในคืนวันลอยกระทงเพียง 1 คืนของแต่ละปี มีสถิติขยะกระทง จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า จำนวนกระทงที่เก็บได้ในปี 2566 มีจำนวน 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่จัดเก็บได้ 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 67,226 ใบ คิดเป็นร้อยละ 11.74 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 96.74 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 3.26

สถิติจำนวนการจัดเก็บขยะกระทงของกรุงเทพมหานคร 5 ปีย้อนหลัง มีดังนี้

  • ปี 2566 จัดเก็บได้ 639,828 ใบ จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.74 % จากโฟม 3.26 %
  • ปี 2565 จัดเก็บได้ 572,602 ใบ จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 95.70 % จากโฟม 4.30 %
  • ปี 2564 จัดเก็บได้ 403,235 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.46% จากโฟม 3.54%
  • ปี 2563 จัดเก็บได้ 492,537 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.4% จากโฟม 3.6%
  • ปี 2562 จัดเก็บได้ 502,024 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.3% จากโฟม 3.7%

เปิดสถิติขยะ วันลอยกระทง ย้อนหลัง 5 ปี ขยะกระทง คืนวันเพ็ญ ปี66 พุ่ง 6.3 แสนใบ

ทั้งนี้ หลังจากดำเนินการคัดแยกกระทงแล้ว กรุงเทพมหานครได้นำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติส่งเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำไปกำจัดโดยการฝังกลบอย่างถูกวิธีที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สายไหม และหนองแขม หรือเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมต่อไป

ในปี พ.ศ. 2567 นี้ เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดขยะจากกระทงได้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

วิธีลอยกระทง 2567 ขอขมาพระแม่คงคาอย่างไรไม่ให้ขยะล้นแหล่งน้ำ

  1. กระทงเดียว ลอยร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
  2. ใช้กระทงขนาดเล็ก ตกแต่งพอประมาณ
  3. เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ 100 % ย่อยสลายได้ง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุประเภทเดียวกันทั้งกระทง
  4. งดการใช้วัสดุพลาสติกและโฟม งดการใช้ลวด ตะปู
  5. หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ย่อยสลายยากหรืออาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำได้ เช่น กระดาษใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือน ส่วนพวกแป้งและขนมปัง แม้ย่อยสลายเร็วแต่หากแหล่งน้ำไม่มีปลาหรือมีไม่มากพอที่จะกินขนมปังจนหมด อาจทําให้แหล่งน้ำเน่าเสียได้
  6. ลอยกระทงในสถานที่ที่ทางการจัดเตรียมไว้
  7. ลอยกระทงออนไลน์ โดยเลือกร่วมกิจกรรมกับแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ ไม่ร่วมกิจกรรมผ่านลิงก์ที่แนบมากับข้อความเอสเอ็มเอส อีเมล หรือ ส่งผ่านทางไลน์ ที่ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือ สแกนใบหน้า เพราะนั่นอาจเป็นลิงก์ หรือ เว็บไซต์ มิจฉาชีพได้

ข้อมูลจาก : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

Comment

แนะนำสำหรับคุณ